เมื่อพูดถึงชื่อ ‘Sesame Street’ อาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าพูดถึงตัวละครเอลโม่ และเอลโม่สีฟ้า (จริงๆ แล้วเป็นคุกกี้มอนสเตอร์ต่างหาก) หลายๆ คนคงจะร้องอ๋อขึ้นมาทันที เพราะมีสินค้าหลายชนิดที่นำตัวการ์ตูนสีแดงกับสีฟ้าไปใช้กันอย่างแพร่หลาย มาทำความรู้จักเซซามีสตรีทกันมากขึ้น กับหลายสิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
Sesame Street คือการ์ตูนหุ่นเชิด (Muppets) ที่ความหลากหลายมากๆ ทั้งคน สัตว์ มอนสเตอร์ หรือแม้กระทั่งนางฟ้าอยู่ร่วมกันที่ถนน 123 Sesame Street ในแมนแฮตตัน โดยจะเป็นการจำลองสถานการณ์ต่างๆ พร้อมแทรกเนื้อหาที่มีประโยชน์แก่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ คำศัพท์ในชีวิตประจำวัน การนับเลข หรือการคิดเลข เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ทีมงานยังต้องการที่จะสร้างความเข้าใจในประเด็นอื่นๆ มากยิ่งขึ้น จึงทำการเพิ่มเนื้อหา และข้อมูลที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและทำให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตได้ดีในสังคม
Table of Contents
จุดเริ่มต้นของ Sesame Street เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า ‘นอกจากรายการทีวีจะสนุกแล้ว จะสามารถให้ความรู้ไปพร้อมๆ กันด้วยได้หรือเปล่า?’ ถือว่าเป็นคำถามที่ค่อนข้างจะฉีกกรอบเดิมๆ ของรายการในยุคนั้น ที่มักจะมีแต่ความสนุกเพียงอย่างเดียว ทางโปรดิวเซอร์ โจน แกนซ์ คูนีย์ (Joan Ganz Cooney) และ ลอยด์ มอร์ริเซ็ตต์ (Lloyd Morrisett) จากบริษัท Sesame Workshop ก็พัฒนาไอเดียนี้ รวมทั้งมีทีมวิจัยและหาเงินทุนสำหรับการสร้าง ซึ่งกว่าจะสำเร็จได้ก็ใช้เวลาไปกว่าสองปี
นอกจากตัวละครที่น่าเอ็นดูมากๆ แล้วยังมีเพลงไตเติ้ล ‘Can You Tell Me How To Get To Sesame Street’ ที่ถ้าได้ฟัง คุณต้องเอาออกจากหัวไม่ได้อย่างแน่นอน เทียบง่ายๆ ของไทยก็คงเหมือนกับเวลาเราได้ยิน ‘อรุณเบิกฟ้านกกาโบยบิน ออกหากินร่าเริงแจ่มใจ~’ ของการ์ตูนเจ้าขุนทองที่ตอนเด็กต้องตื่นมาทุกหกโมงเช้า เซซามีสตรีทไม่ใช่แค่การ์ตูนโปรดของชาวอเมริกันเท่านั้น เพราะตอนนี้ออนแอร์ไปมากถึง 120 ประเทศทั่วโลก และประเทศไทยก็จะฉายอยู่ที่ช่อง Thai PBS นั่นเอง
เซซามีสตรีทเริ่มเอพิโสดแรกมาตั้งแต่ปี 1969 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เท่ากับว่าตอนนี้มีมาทั้งหมด 52 ซีซั่น ร่วมด้วยแขกรับเชิญทั้งนักแสดงและศิลปินมากมาย และล่าสุดปล่อยซีซั่นที่ 52 ออกมาเมื่อวันที่ 11 พฤจิกายนที่ผ่านมานี้เอง พร้อมทั้งแขกรับเชิญสุดพิเศษอย่าง Billie Eilish อีกด้วย
ทำไมถึงใช้ชื่อ Sesame Street?
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงเป็น Sesame Street ล่ะ เหตุผลง่ายๆ ก็เกิดจากหนึ่งในทีมนักเขียนเสนอไอเดีย โดยอิงจากนิทานอย่างอาหรับราตรี (The Arabian Nights) ที่มีตัวละครพูดว่า ‘Open, Sesame!’ ตอนจะเปิดถ้ำที่ซ่อนสมบัติไว้ ซึ่งมันให้ความรู้สึกตื่นเต้นและผจญภัย และฉากหลักของการ์ตูนเรื่องนี้เป็นถนนในเมืองอยู่แล้ว (Urban Street) จึงผสมคำกันจนกลายเป็นชื่อ ‘Sesame Street’ ในที่สุด
ทำความรู้จักกับตัวละครหลักใน Sesame Street
จากที่เห็นกันผ่านๆ ตาอาจดูเหมือนมีตัวละครเพียงไม่กี่ตัว แต่ที่จริงแล้วตัวละครในเซซามีสตรีทกลับมีถึง 1,911 ตัวเลยนะ แต่ก็คงไม่น่าแปลกใจนัก เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ก็ฉายกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งจะให้แนะนำทั้งหมดคงจะไม่ไหว เราเลยอยากแนะนำ 6 ตัวละครหลักของเรื่องนี้กันสักหน่อย ให้ทุกคนได้รู้จักกัน
Elmo
เริ่มต้นด้วยมอนสเตอร์ที่มีขนสีแดงทั้งตัว จมูกสีส้มอันใหญ่ มาพร้อมกับเสียงเล็กๆ ที่หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นผู้หญิง และมักจะแนะนำตัวเองว่าอายุ 3 ขวบครึ่งอยู่เสมอไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีแล้วก็ตาม เอลโม่มาพร้อมคำพูดประจำตัว ‘Elmo loves you’ และด้วยเสียงเล็กๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้นและสนุกสนาน จึงทำให้เด็กๆ มองว่าเอลโม่เป็นเพื่อนรักของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย
Big Bird
เราอาจจะเห็นบิ๊กเบิร์ดเป็นมีมในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะบิ๊กเบิร์ดนั่งในที่ประชุม หรือคลิปที่ถีบประตูออกมา ซึ่งคนมักจะเข้าใจผิดว่าบิ๊กเบิร์ดเป็นเป็ด หรือไม่ก็ไก่ แต่จริงๆ แล้วเป็นนกตัวใหญ่ตามชื่อนั่นแหละ แล้วก็ฉลาดมากๆ ยอมรับและกล้าถามในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ ด้วยคาแร็กเตอร์นี้จะส่งเสริมให้เด็กกล้าที่จะผิดและเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
Cookie Monster
ตัวการ์ตูนขนปุกปุยที่มักจะถูกเรียกว่า ‘เอลโม่สีฟ้า’ แต่ถ้าสังเกตดีๆ ก็ไม่เหมือนกันสะทีเดียวนะ คุกกี้มอนสเตอร์ก็สมชื่อ เพราะมาพร้อมวลีเด็ดอย่าง ‘Me want cookie!’ (ที่ใช้ me ก็เหมือนกับเด็กที่ยังใช้แกรมม่าไม่ถูก) นิสัยที่ชอบกินนั้นไม่ใช่แค่เฉพาะคุกกี้เท่านั้น แต่กินทุกอย่างที่ขวางหน้าไปเสียหมด แล้วมักจะกินเสียงดังอย่างเอร็ดอร่อยอีกด้วย อย่างไรก็ตามมีคนตั้งข้อสังเกตว่าหรือความจริงแล้ว คุกกี้มอนสเตอร์เป็นโรคกินไม่หยุดกันแน่ (Binge Eating Disorder)
Bert และ Ernie
เพื่อนรักสองคนที่ต้องมาเป็นแพคคู่ตลอด ทั้งยังใส่เสื้อลายทางเหมือนกันเป๊ะ จุดเด่นที่ทำให้เราแยกสองคนนี้ได้ ก็คงเป็นคิ้วของเบิร์ทที่ชนกันจนกลายเป็นเส้นเดียว และคาแร็กเตอร์ของเออร์นี่ย์ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำ (OCD) ทำที่มักจะชวนเบิร์ทเล่นสนุกอยู่เสมอ
ในเรื่องสองคนนี้เป็นรูมเมทกัน เล่นด้วยกัน จนทำให้ใครหลายๆ คิดว่าสองคนนี้เป็นคู่รักกัน และมักจะถูกพูดถึงเมื่อมีท็อปปิกเกี่ยวกับ LGBTQIAN+ ซึ่งทางผู้เขียนก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า เขาตั้งใจเขียนให้สองคนนี้เป็นเพื่อนรักกัน โดยอิงจากความสัมพันธ์จริงๆ ของเขาและเพื่อนคนหนึ่ง
Abby Cadabby
ตัวสีชมพู มีปีก ถือคฑา คงเดากันไม่ยากว่าเธอคือนางฟ้า ที่มักจะร่ายคาถาด้วยคำว่า ‘Zippity-zap!’ แต่ก็ยังไม่ชำนาญเท่าไหร่นักเพราะเธอยังเป็นเพียงนางฟ้าฝึกหัดเท่านั้น นอกจากนี้เธอยังสามารถพูดภาษา ‘Dragonfly’ รวมถึงสื่อสารกับผีเสื้อและลูกสุนัขได้อีกด้วย
เรื่องของภาษาก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ
ก็จริงอยู่ที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล และถึงจะรู้เพียงภาษาเดียวก็สามารถเอาตัวรอดได้สบายๆ แต่ Sesame Street ไม่หยุดอยู่แค่ภาษาอังกฤษ ยังให้ความสำคัญกับภาษาอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาษามือ (American Sign Language) และภาษาสเปน ที่มีผู้ใหญ่งานจำนวนมาก รองจากภาษาอังกฤษเลยล่ะ
Sign Language
Sesame Street เริ่มสอนภาษามือ (American Sign Language: ASL) โดยเพิ่มนักแสดงที่มีชื่อว่า ลินดา โบฟ (Linda Bove) ตั้งแต่ปี 1971 จนถึง 2002 เธอเป็นบรรณารักษ์ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และใช้ภาษามือสื่อสารเป็นหลัก สถานการณ์ต่างๆ จะทำให้เราเข้าใจความยากลำบากที่เธอต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ซึ่งอีกจุดประสงค์หนึ่งของเซซามีสตรีทก็คือ เพื่อแทรกความแตกต่างเพื่อความเข้าใจและสร้างค่านิยมที่ดีกับเด็กๆ ให้ปฎิบัติกับผู้ใช้ภาษามือเหมือนกับคนอื่นๆ และพยายามเข้าใจเวลาที่สื่อสารถึงแม้จะไม่รู้ภาษามือก็ตาม แต่ถึงตอนนี้จะไม่ใช่ลินดาที่มาแสดงในเรื่องแล้ว เซซามีสตรีทก็ยังคงสอนภาษามือมาจนถึงปัจจุบัน
Spanish
ในอเมริกานอกจากภาษามือแล้ว ภาษาที่ถูกใช้เยอะรองลงมาจากภาษาอังกฤษ ก็คงหนีไม่พ้นภาษาสเปน เพราะมีชาวเม็กซิกันอพยพเข้ามาจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นภาษาทางการขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย ทางโปรดิวเซอร์จึงตัดสินใจเพิ่มหุ่นเชิดตัวใหม่ที่มีชื่อว่า โรซิต้า (Rosita) ปรากฎครั้งแรกในเอพิโสด ‘Hola and Hello’ มอนสเตอร์ชาวลาตินที่สามารถพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและสเปน เพื่อสอนคำศัพท์ประจำวัน และให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมลาตินอเมริกา และนอกจากนั้นโรซิต้ายังช่วยเพิ่มความมั่นใจกับเด็กๆ ที่เกิดมาเป็นไบลิงกัว (Bilingual) ให้กล้าที่จะสื่อสารและภูมิใจกับตัวตนของพวกเขา
Sesame Street กับประเด็นสังคมที่ไม่เคยหายไปไหน
แม้ว่าจุดประสงค์ของเซซามีสตรีทก็เหมือนจะลุล่วงไปแล้ว แต่รายการนี้ก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นมากกว่ารายการสอนภาษา ซึ่งปัจจุบันรายการครอบคลุมไปถึงประเด็นสังคมที่เกิดขึ้น ทั้งสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปแต่ยากจะอธิบาย กับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ รายการนี้ก็สามารถช่วยได้อีกแรงสำหรับพ่อแม่ไม่แน่ใจว่าจะอธิบายสิ่งต่างๆ นี้ยังไง
โรคออทิสติก
จูเลีย (Julia) เด็กหญิงมีผมสีส้มที่มีกระต่ายเป็นตุ๊กตาคู่ใจ ถ้าเราดูแว๊บแรกก็ดูเหมือนเด็กทั่วไป แต่ที่จริงเธอมีอาการของโรคออทิสติก ขณะที่ปรากฎตัวในเอพิโสดแรก บิ๊กเบิร์ดทักทายจูเลียแต่เธอไม่ตอบอะไรทั้งสิ้น ซึ่งก็ทำให้บิ๊กเบิร์ดสงสัยว่า อาจเป็นเพราะจูเลียไม่ชอบเขา แต่ทุกอย่างก็เฉลยว่าเพราะอะไร ทุกคนต่างเข้าใจเธอ และมองว่า ’เธอแค่มีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมือนคนอื่นเท่านั้นเอง’ ตอนท้ายของเอพิโสดจบลงด้วยภาพที่ทุกคนเล่นกันอย่างสนุกสนาน
ทางพ่อแม่ของเด็กออทิสติกต่างมองว่า การเพิ่มตัวละครตัวนี้เข้ามาเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ทั้งกับเด็กออทิสติกที่เห็นตัวตนของตัวเองอยู่ในสื่อ และเด็กทั่วไปที่จะเข้าใจเกี่ยวกับโรคออทิสติกมากขึ้น
HIV และ AIDS
อย่างที่เรารู้กันดีกว่าโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) เป็นสิ่งที่ถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง และมักจะถูกเรียกสลับกับโรคเอดส์ เริ่มแรกทีมงาน Sesame Workshop สร้างโปรเจกต์พิเศษ ‘Takalani Sesame’ ที่ฉายแค่ในแอฟริกาใต้ และได้ผลตอบรับดีมาก จึงนำตัวละครแคมิ (Kami) เข้ามาใน Sesame Street ที่เป็นเรื่องหลัก แคมิเป็นคนสดใสร่าเริง รักธรรมชาติ และดูสุขภาพดีถึงแม้จะมีผลเลือดบวก เธอมาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรค และสิ่งที่ต้องเจอที่อาจสร้างบาดแผลในใจให้กับคนที่เป็น มากไปกว่านั้นเธอยังเข้าร่วมแคมเปญของ UNICEF กับประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) เพื่อเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ในการพูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชไอวีและโรคเอดส์
คนไร้บ้าน
ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา น่าแปลกใจที่ยังมีคนไร้บ้านจำนวนมาก และจะกระจุกกันอยู่ในเมืองใหญ่ นอกจากจะมีทั้งตัวคนเดียวแล้ว ก็ยังมีคนที่ไร้บ้านทั้งครอบครัว ซึ่งเกิดปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ความยากจน และขาดแคลนอาหาร ถือเป็นเวลาที่ยากลำบากและสร้างปมในใจเด็กอย่างเลี่ยงไม่ได้
Sesame Street ก็ไม่ละเลยประเด็นนี้อีกเช่นกัน จึงเปิดตัวหุ่นเชิดใหม่ที่ชื่อว่าลิลี่ (Lily) เด็กหญิงอายุเจ็ดขวบ เริ่มแรกรายการปูเรื่องมาว่า ครอบครัวของเธอยากจนมากจนต้องอดอาหาร ต่อมาลิลลี่และครอบครัวก็เสียอะพาร์ตเมนต์ไป และต้องขออาศัยบ้านคนอื่นอยู่ไปเรื่อยๆ ถือว่าเป็นจุดพลิกผันของลิลลี่ก็ว่าได้ ทีมงานจึงอยากส่งการ์ตูนเรื่องนี้ไปถึงเด็กๆ ทุกคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์เหล่านี้ว่าพวกเขาไม่ได้ตัวคนเดียวและยังมีคนที่เข้าใจอยู่ตรงนี้
เหตุการณ์ 9/11
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2001 เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การก่อวินาศกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกา หรือที่เรารู้จักกันดีคือ 9/11 เครื่องบินสองลำพุ่งเข้าชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปัจจุบันกลายเป็นตึกเดียว และชื่อตึกวันเวิลด์เทรดแทน) ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากเกือบสามพันคน
หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น Sesame Street ต้องการจะให้ความรู้และพยายามเล่าในมุมที่เหมาะกับเด็กมากที่สุด จึงฉายเอพิโสดที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้เพื่อระลึกถึงเหล่านักดับเพลิง ผ่านเรื่องราวของเอลโม่ที่อยู่ในร้านอาหารที่ไฟไหม้ และทำให้เขารู้สึกกลัวมากๆ และได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานีดับเพลิง ได้รู้หลายสิ่งเกี่ยวกับนักดับเพลิงและรู้วิธีรับมือเวลาพบกับเหตุการณ์ไฟไหม้
การจำคุก
‘อยากกลับไปเป็นเด็ก เจ็บสุดก็แค่หกล้ม’ วลีนี้อาจจะจริงสำหรับหลายๆ คน แต่บางคนก็มีวัยเด็กที่ไม่ได้น่าจดจำนัก Sesame Street จึงเสนอคลิปชุด ‘Little Children, Big Challenges: Incarceration’ ซึ่งในเรื่องสอนคำว่า ‘incarcerated’ หมายถึง การถูกจับเข้าคุกเนื่องจากทำผิดกฎหมาย นำโดยตัวละครใหม่อย่างอเล็กซ์ (Alex)
เขาก็เหมือนเด็กทั่วไป ต่างตรงที่พ่อของเขากำลังติดคุก และเขาไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะมันเป็นเรื่องที่พูดยากและดูน่าอายสำหรับเด็กคนหนึ่ง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกลัวว่าสังคมจะตัดสินเขา กลับกันทุกคนในเซซามีสตรีทพร้อมซัพพอร์ตเขา พร้อมทั้งแขกรับเชิญที่เผยว่าตนเองเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาเช่นกัน
การเหยียดเชื้อชาติและสีผิว
อย่างที่ได้พูดไปก่อนหน้านี้ว่า มีผู้อพยพจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในอเมริกา จึงทำให้เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมมากที่สุด และยังมีการเหยียดเชื้อชาติหรือเหยียดสีผิวเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ทั้งที่ไม่ควรจะมีอยู่ด้วยซ้ำไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก
ต่างจากใน Sesame Street อย่างสิ้นเชิงที่ทุกคนพร้อมเปิดรับความแตกต่าง นำโดยตัวละครอย่างเวส (Wes) และ อีไลจาห์ (Elijaha) สองพ่อลูกชาวแอฟริกันอเมริกัน ที่จะทำให้เด็กๆ เข้าใจในด้านเชื้อชาติมากขึ้นในรายการ ‘ABCs of Racial Literacy’ หนึ่งในรายการของ Sesame Workshop ทั้งสองคนพบกับเอลโม่โดยบังเอิญ และอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมร่างกายของเราถึงมีสีผิวแตกต่างกัน ซึ่งนี่ไม่เพียงทำให้เด็กเข้าใจเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งข้อมูลของผู้ปกครองที่สามารถนำไปอธิบายได้อย่างถูกต้อง
LGBTQIAN+
เพศในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่หญิงหรือชาย การสร้างครอบครัวก็เช่นกัน ชาว LGBTQIAN+ ก็มีสิทธิ์ที่จะมีครอบครัว เป็นพ่อสองคนก็ได้ แม่สองคนก็ได้ หรือเป็นใครใดก็ได้ที่พร้อมดูแลชีวิตที่จะเกิดมา เซซามีสตรีทในเอพิโสด ‘The Family Day’ ที่ฉายช่วง Pride Month นำเสนอแขกรับเชิญอย่าง โอลิเวีย เปเรซ (Olivia Perez) เด็กหญิงที่มีคุณพ่อสองคน คริส คอสต้า (Chris Costa) และ อเล็กซ์ ไวส์แมน (Alex Weisman) ถือเป็นครั้งแรกของเซซามีสตรีทที่นำเสนอตัวตนเกย์ในสื่อ และเป็นการล้างภาพจำเดิมๆ ว่าความสัมพันธ์ของชาว LGBTQIAN+ ไม่ยืดยาว ไม่จริงจัง
ด้วยของภาพครอบครัวเปเรซที่มีความสุขและเต็มไปด้วยความรัก รวมถึงเหล่ามอนสเตอร์ที่ต่างยินดีไปกับพวกเขา คงเป็นตัวอย่างที่ดีไม่น้อยที่จะซัพพอร์ตพวกเขาเหล่านี้ และทำให้คนตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา
การอพยพย้ายถิ่นเป็นสิ่งที่เกิดอยู่เป็นประจำ แต่การอพยพของชาวโรฮิงญากลับแตกต่างออกไป ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ทางตะวันตกของพม่าแบบผิดกฎหมาย จึงกลายเป็นคนไร้รัฐและถูกจำกัดสิทธิ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยบังคลาเทศ และยังไม่เพียงเท่านี้พวกเขายังพบกับความลำบากมากขึ้นไปอีกขั้นในช่วงการระบาดของโควิด 19
ใน Sesame Workshop จึงมีแคมเปญพิเศษรายการ ‘Play to Learn Humanitarian Program’ มีตัวละครที่นำเสนอตัวตนของชาวโรฮิงญาด้วยเช่นกันพวกเขาคือ นูร์ จัสมิน (Noor Yasmin) และอาซิซ (Aziz) ฝาแฝดอายุ 6 ปีที่จะมาช่วยเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึงสุขภาพผ่านกิจกรรมในเรื่อง เพื่อให้เด็กชาวโรฮิญจาสามารถก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้ อาจจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ที่กำลังชม ซึ่งอาจจะเจอกับปัญหาต่างๆ มีแรงต่อสู้และเอาชนะมันไปได้
เอเชียนอเมริกัน
ไม่นานมานี้ Sesame Street ประกาศเพิ่มตัวละครใหม่อีกครั้งในซีซั่นที่ 52 คราวนี้มาทางฝั่งเอเชีย เพราะเธอคือ Ji-Young เด็กหญิงชาวเอเชียนอเมริกันที่มีความกล้า ลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งที่ผิด เธอชอบเล่นกีตาร์ไฟฟ้า ฟุตบอล และสเก็ตบอร์ดเป็นชีวิตจิตใจ ครอบครัวของเธอภูมิใจกับความเป็นเกาหลีมากๆ ทั้งยังใช้ภาษาเกาหลีภายในครอบครัวอยู่ตลอด รวมถึงไม่ทิ้งวัฒนธรรมเกาหลี อย่างเช่น อาหาร เพราะอาหารโปรดของเธอก็ยังคงเป็นอาหารเกาหลีอย่าง ‘ต๊อกบกกี’
สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กชาวเอเชียนอเมริกันกล้าและภูมิใจในสิ่งที่ตนเองเป็นมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่น่าสนใจก็คือ คนเชิดหุ่นก็เป็นลูกครึ่งเกาหลีอเมริกันอีกด้วย ยิ่งเสริมให้คาแร็กเตอร์ของจียองมีมิติและสื่อถึงความเป็นเอเชียนอเมริกันได้ดีมากขึ้นไปอีก
ถึงเซซามีสตรีทจะเป็นการ์ตูนเด็กแต่กลับให้อะไรมากกว่าที่เราคิด ทั้งความสนุก ความรู้ การใช้ซอฟต์พาวเวอร์ที่ถูกทาง และหลายๆ คนก็เชื่อว่าเรื่องราวหนักหน่วง ถ้านำเสนอผ่านเหล่าหุ่นเชิดพวกนี้เด็กๆ คงจะรู้สึกดีกว่าและเข้าใจมันได้ง่ายกว่าจากพ่อแม่ แต่อีกแง่นึงพ่อแม่ก็ได้เรียนรู้และเข้าใจโลกของเด็กมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
ใครที่ยังไม่เคยดู รับชม Sesame Street ได้แล้วทาง HBO GO (ตอนนี้มีซีซั่น 44 ถึงซีซั่นล่าสุดแล้วนะ!)
และยังอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sesameworkshop.org
Sources:
- www.sesameworkshop.org/who-we-are/our-history
- www.thewrap.com/sesame-street-characters-ranked-elmo-cookie-monster-snuffleupagus/
- www.nbcnews.com/feature/nbc-out/bert-ernie-are-gay-couple-sesame-street-writer-claims-n910701
- www.history.com/news/8-stereotype-shattering-sesame-street-characters
- www.bbc.com/news/entertainment-arts-46551197
- www.bbc.com/news/entertainment-arts-39324183
- www.nme.com/news/tv/sesame-street-first-asian-american-muppet-character-3096937
- www.huffpost.com/entry/moments-on-sesame-street-that-championed-diversity-and-inclusion_n_58d5257ae4b03787d3576ba9
- www.latimes.com/entertainment-arts/tv/story/2021-03-24/sesame-street-abcs-of-racial-literacy-wes-elijah
- www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_5571890
- www.bbc.com/news/world-asia-55364403