เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างบุคคลกลายเป็นเรื่องใหญ่ของคนไม่กี่คน
แต่กลับทำให้ชีวิตคู่ของหลายๆ คนกลับไม่ได้รับสิทธิ์อย่างที่ควรจะเป็น
เป็นประเด็นถกเถียงกันมาอย่างเนิ่นนานว่าการสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานที่อนุญาตให้แค่ชายหญิงเท่านั้น เป็นการสมรสที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
คำถามก็คือ ทำไมศาลถึงวินิจฉัยออกมาในรูปแบบนั้น เราก็ลองมาอ่านรายละเอียด (สามารถอ่านได้ที่นี่) และสรุปออกมาดูกันได้ว่า
การสมรสมีเป้าหมายเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ ทำให้สงวนไว้เฉพาะชายและหญิงตามเพศกำเนิดเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (ย่อหน้า 11)
: คู่สมรสที่เป็นชายหญิงบางคู่อาจจะเป็นหมันหรือไม่ได้ต้องการที่จะมีลูก เขาก็สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ แต่ทำไมถึงไม่มีการเปิดกว้างให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสกันด้วยล่ะ เพราะถ้าสเตรทหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการจะมีลูกจริงๆ มันก็มีอีกหลากหลายวิธีนอกเหนือจากวิธีตามธรรมชาติ ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องอ้างถึงเพศกำเนิดในการสืบเผ่าพันธุ์เลย
ความรักของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นเพียงความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศ (ย่อหน้า 11)
: ความรักของใคร ก็คือเรื่องของบุคคลนั้น เขาจะรู้สึกและพึงพอใจทางเพศหรือไม่ ก็เป็นสิทธิ์ของเขา เราไม่ควรจะต้องเข้าไปก้าวก่าย แม้ว่าคนนั้นจะเป็นสเตรทก็ตาม เขาแค่ต้องการที่จะจดทะเบียนสมรสกัน ต่อให้เขาไม่ได้ต้องการในเรื่องทางเพศ ก็ยังคงเป็นความรักอยู่ดี
กฎหมายสมรสชายหญิงมีที่มาจากจารีตประเพณี (ย่อหน้า 12)
: คำถามคือ เราจะไม่มีการปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคมเลยเหรอ แล้วความเชื่อที่สืบต่อกันมาอย่างช้านาน ถ้ามันไม่เข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบัน ก็จะยังคงเดิมแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเขาพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนตามให้ทัน? เราต้องการอยู่ในโลกแบบนั้นจริงๆ หรือ
การสมรสระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อน อย่างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ และสืบทอดทรัพย์สิน มรดก ส่งต่อความผูกพันในครอบครัว (ย่อหน้า 12)
: ในหัวข้อนี้ดูเหมือนว่า ต่อให้เป็นคู่สมรสชายหญิงแต่งงานกัน บางคู่ก็อาจไม่ได้ต้องการมีลูก และไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนได้ แล้วรู้ได้อย่างไรว่าการสมรสระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะไม่สามารถสร้างความผูกพันภายในครอบครัวได้? บางตระกูลของคนรักต่างเพศยังแต่งงานเพื่อรักษาอำนาจทางธุรกิจ ทางการเมือง ทำไมแบบนี้ถึงทำกันได้ปกติ
มาตรา 1448 ไม่ได้ห้ามผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่กินกัน (ย่อหน้า 12)
: เป็นที่รู้กันทั่วอยู่แล้วว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามไม่ให้อยู่กินกัน แต่พวกเขาต้องการจดทะเบียนสมรสกัน ไม่ว่าจะเพื่อต้องการสิทธิระหว่างคู่สมรสกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับรองบุตรร่วมกัน การแบ่งสินสมรส การรับมรดกกรณีคู่สมรสเสียชีวิต สิทธิจากการเป็นข้าราชการ การลดหย่อนภาษีเงินได้ การฟ้องร้องดำเนินคดีหรือเรียกร้องค่าเสียหายแทนกัน เป็นต้น ซึ่งมันไม่ได้อยู่แค่การทำนิติกรรมอย่างเดียว ลองคิดดูว่าหากเป็นคู่สมรสชายหญิง ฝ่ายหนึ่งต้องเข้ารับการผ่าตัด อีกฝ่ายสามารถเซ็นยินยอมได้ ผู้ป่วยก็ไม่ต้องเสี่ยงชีวิตไปกับการเสียเวลารอผู้มาตัดสินใจแทน แต่กลับกัน ในตอนนี้ คู่รักที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ฝ่ายหนึ่งต้องเข้าผ่าตัด แต่อีกฝ่ายเซ็นยินยอมไม่ได้ นั่นเท่ากับว่าต้องรอให้ญาติมาเซ็น และถ้าหากมันช้าเกินไป มันไม่ทันการณ์ล่ะ จะทำอย่างไร?
ต้องกำหนดชายหญิง เพราะชายหญิงเสมอภาค แต่ไม่เหมือนกัน เพราะต้องปฏิบัติให้เหมาะสมกับเพศสภาพของบุคคลนั้นๆ (ย่อหน้า 13)
รัฐไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ความถูกต้องของการเบิกค่าใช้จ่าย (ย่อหน้า 13)
: ที่บอกว่าไม่ต้องการความวุ่นวายในการพิสูจน์ทั้งเพศสภาพและใบรับรองแพทย์ทุกกรณี ในย่อหน้า 13 บอกเอาไว้ว่า “เพิ่มภาระให้รัฐและทำให้สิทธิของสามีภริยาที่เป็นชายจริงหญิงแท้ เป็นมหาชนต้องถูกตรวจสอบไปด้วย ทำให้เกิดความล่าช้า มีอุปสรรค ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไปโดยปริยาย” คำถามคือ อะไรคือ ‘ชายจริงหญิงแท้’ อันนี้เท่ากับว่ารัฐเป็น Homophobe รึเปล่า ที่เลือกใช้คำนี้ออกมา และที่สำคัญก็คือมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมเสมอหน้า ไม่ใช่เลือกปฏิบัติกันในรูปแบบนี้
กลัวเปิดช่องจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังสวัสดิการของรัฐ (ย่อหน้า 13)
: แล้วคิดว่าคู่รักชายหญิงไม่มีการจดทะเบียนเพื่อหวังสวัสดิการของรัฐเหรอ อันนี้ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาจดทะเบียนสมรสกันทำไม แต่ก็ไม่มีใครถามหรือมากังวลเลยว่ามันจะเป็นการจดทะเบียนสมรสกันหลอกๆ นี่ก็เป็นหน้าที่ของรัฐอยู่ดีที่ต้องมอบสวัสดิการให้ทุกๆ คน เพราะเอาภาษีจากประชาชนไปใช้
กฎหมายปัจจุบันไม่ได้ห้ามจัดพิธีแต่งงาน ทำพินัยกรรม หรือมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินร่วมกัน (ย่อหน้า 14)
: อย่างที่รู้กันว่าไม่ได้มีการห้าม แต่คำถามก็คือกรณีที่เขาไม่ได้ทำล่ะ สิ่งที่เขาทำร่วมกันมา มันจะหายไปหมดเลยใช่รึเปล่า ทรัพย์สินของพวกเขาทั้งคู่ ต้องตกไปอยู่กับผู้รับมรดก โดยที่คู่รักของเขาไม่มีสิทธิ์เลยใช่รึเปล่า?
การให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล การได้รับสวัสดิการของคู่สมรส การได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ หรือสิทธิการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิด หรือสิทธิในฐานะทายาทโดยชอบธรรม สามารถแก้ไขโดยบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะมาใช้ (ย่อหน้า 14)
: แล้วทำไมถึงไม่แก้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ล่ะ ในเมื่อแก้ทีเดียว ก็สามารถปรับทั้งหมดได้ โดยที่พวกเขาก็ได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกันกับคู่สมรสชายหญิงเลย เวลาค้นหาข้อกฎหมาย ก็ไม่ต้องหาหลายๆ เล่ม บางทีอาจจะไม่ได้ออกกฎหมายลูกมาแล้วครอบคลุมกับสิทธิ์ต่างๆ ด้วยซ้ำ การแก้ไขข้อกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะครอบคลุมทุกๆ อย่างที่คู่สมรสชายหญิงมีสิทธิ์ด้วย นั่นไม่ดีกว่าเหรอ
ควรออกกฎหมายเฉพาะเพื่อให้รองรับสิทธิ LGBTQIAN+ โดยตรง (ย่อหน้ารองสุดท้าย)
: การออกกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับสิทธิ LGBTQIAN+ โดยตรง ถ้าหากมองผิวเผินอาจดูเป็นเรื่องดี แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็เป็นมนุษย์ เป็นประชาชนชาวไทยเหมือนกัน ทำไมถึงต้องแยกทำให้พวกเขาดูแปลกแยกและแตกต่างไปจากคนอื่นๆ หรือรัฐมองว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่มนุษย์เช่นเดียวกับชายหญิง จึงต้องการที่จะแยกกฎหมายออกมา
ความเป็นไปได้ กับการสมรสเพศเดียวกันในต่างประเทศ
แม้ว่าประเทศไทยจะมีการนำเสนอเกี่ยวกับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง อย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือซีรีส์วาย และมีการส่งออกไปต่างประเทศด้วย นอกจากนี้แล้วยังมีแคมเปญ “Go Thai Be Free” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มีการทำแคมเปญเพื่อโปรโมตให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การขับเคลื่อนเกี่ยวกับการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับต่างประเทศ
อ้างอิงจาก Rocket Media Lab ที่ได้มีการสำรวจว่าในปัจจุบันมีประเทศและดินแดนที่มีการออกกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันถึง 50 ประเทศ/ดินแดน และมีแค่เพียง 30 ประเทศเท่านั้น โดยประเทศแรกที่รองรับการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันก็คือประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2001 และประเทศล่าสุดก็คือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่จะมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2022
ผลการสำรวจของ Rocket Media Lab ยังบอกอีกด้วยว่า กฎหมายการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันยังสามารถแยกออกได้ว่าผ่านกฎหมายโดยรัฐสภาถึง 17 ประเทศ ผ่านกฎหมายโดยคำวินิจฉัยของศาลอีก 10 ประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความในประเด็นสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคนั่นเอง และผ่านการลงประชามติ ที่มีแค่สองประเทศเท่านั้น นั่นก็คือไอร์แลนด์ ที่มีการพิจารณามาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 และลงประชามติในปี 2015 และเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ออกกฎหมายรับรองการสมรสของเพศเดียวกันในปี 2015 นั่นเอง
แล้วเมื่อไหร่จะถึงคราวของประเทศไทยและผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยล่ะ? คุณเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียม สามารถลงลายมือชื่อเพื่อร่วมลงชื่อเสนอพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ https://www.support1448.org/
Sources:
- https://rocketmedialab.co/database-same-sex-marriage/
- https://rocketmedialab.co/same-sex-marriage/
- https://www.constitutionalcourt.or.th/download/ruling20-2564.pdf