‘ผี’ ตามขนบภาพยนตร์หรือนิทานพื้นบ้านของไทย หากไม่ปรากฏกายขึ้นในรูปแบบของวิญญาณอาฆาตที่หมายปองจะกลับมาอยู่ร่วมอาศัยกับคนเป็น ก็มักมุ่งหมายจะพาคนเป็นข้ามภพข้ามชาติไปอยู่กับตน รากความคิดของสองโลกที่ถูกขีดกั้นด้วยความเป็น-ตาย และความเปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามนี้ส่งผลให้ ‘ผีไทย’ มักมีลักษณะเป็นอื่น มีพฤติกรรมแปลกแยกไปจากปกติวิถีของมนุษย์ หรือไม่แล้วก็อาจมีรูปร่างแปลกประหลาด มีลำแขนยืดยาวสำหรับหยิบมะนาวใต้ถุนบ้าน มีแต่ส่วนหัวล่องลอยไล่กินไก่ สถิตอาศัยอยู่ในต้นกล้วย บางกรณีถึงขั้นบินได้โดยใช้กระด้งฝัดข้าวแทนปีก ผีไทยจึงมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นคน เป็นหอกข้างแคร่ต่อความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไข ความแตกต่างอย่างสุดขั้วนี้บ่งชี้เป็นนัยว่าโลกหลังความตายย่อมไม่อาจหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้กับโลกแห่งความเป็นจริง ทว่าใน Irma Vep ฉบับซีรีส์ (หรือที่ตัวละครยืนกรานว่าคือ ‘ภาพยนตร์ขนาดยาวที่ถูกแบ่งย่อยเป็นแปดตอน’) โลกของผีนั้นหาได้แปลกแยกออกไปจากโลกของคนเป็น และ ‘ผี’ ก็ไม่ได้อยู่ในสถานะศัตรูคู่อาฆาตของมนุษย์ แต่เป็นอดีตที่ยังคงแผ่ขยายอิทธิพลมาปกคลุมปัจจุบัน อย่างที่ตัวละครเสนอขึ้นมาในตอนหนึ่งว่า ‘คุณรู้ไหม จริงๆ แล้วผีแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความตาย มันเป็นเรื่องของสิ่งที่ตายซากอยู่ในจิตใจของเรา เป็นเรื่องของอดีตที่ฝังรากลึกอยู่ภายใน’
ช่วงหนึ่งของ Irma Vep ฉบับภาพยนตร์ปี 1996 เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างออกรสถึงความเหมาะสมของการนำนักแสดงชาวจีนอย่าง จางม่านอวี้ มารับบท Irma Vep ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าตัวละครนี้เป็น ‘สัญลักษณ์ของกรุงปารีส’ เป็นแม่แบบของความขบถ เป็นตัวแทนของขบวนการใต้ดิน เป็นผู้นำของความแหกคอกนอกกฏเกณฑ์ในแบบฉบับคนฝรั่งเศส ในอีกความหมายหนึ่ง นั่นทำให้สิ่งที่เรอเน วิดาล (ซึ่งก็คือร่างทรงของตัวผู้กำกับโอลิวิเยร์ อัสซายาส) ทำ จึงเปรียบได้กับการรื้อถอนความหมายดั้งเดิมของ Irma Vep จากสัญลักษณ์ของกรุงปารีส ไปสู่สัญลักษณ์ของความเป็นสากลในยุคหลังสมัยใหม่ ในทัศนะของอัสซายาส ตัวตนของ Irma Vep ไม่จำเป็นต้องผูกติดอยู่กับอัตลักษณ์ตัวตนความเป็นฝรั่งเศส แต่อาจพลิกพลิ้วลื่นไหลไปเป็นคนเอเชีย ไปเป็นอื่น ฉากหนึ่งที่งดงาม เกิดขึ้นในตอนที่จางม่านอวี้หยิบชุดสีดำอันเป็นสัญลักษณ์ของ Irma Vep มาสวมใส่ ก่อนจะเยื้องย่างเข้าไปลักขโมยสร้อยเพชรของหญิงสาวนางหนึ่ง นั่นคือชั่วขณะที่นักแสดงสาวผู้เป็นทั้งคนนอกที่ไม่ได้มีพื้นเพคาบเกี่ยวหรือกระทั่งพูดภาษาฝรั่งเศส กลายมาเป็น Irma Vep โดยสมบูรณ์
ความมหัศจรรย์ของ Irma Vep ในฉบับภาพยนตร์จบลงแต่เพียงเหตุการณ์ข้างต้น ทว่าในฉบับซีรีส์ เราคนดูจะได้พบกับความจริงอีกชุดหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาอ้างโต้แย้งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ในฉบับภาพยนตร์ แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่จางม่านอวี้ที่กลายไปเป็น Irma Vep แต่เป็นวิญญาณของ Irma Vep ต่างหากที่เข้าควบคุมเธออย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ จึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฉบับซีรีส์ เป็นทั้งการตรวจสอบ ตั้งคำถาม หรือกระทั่งท้าทายนิยามความหมายของ Irma Vep ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่ออัสซายาสกำลังเสนอกับเราคนดูว่าตัวละครนี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นทั้งคนฝรั่งเศส หรือแม้แต่คนจีน เพราะ Irma Vep ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเสียด้วยซ้ำไป นั่นคือตอนที่เรื่องเล่าใหม่อันมีลักษณะเกินจริงนี้ได้ตั้งคำถามต่อขีดจำกัดของเรื่องเล่าแบบสัจนิยมและการรับรู้ ‘ความจริง’ ของเราคนดูอย่างเถรตรงและรุนแรง ใน Irma Vep ฉบับภาพยนตร์ อัสซายาสอิงอาศัยองค์ประกอบอันสมจริงในการถ่ายทอดเรื่องราว (ทั้งการใช้จางม่านอวี้มารับบทเป็นตัวเอง ตลอดจนวิธีการถ่ายภาพที่เน้นความต่อเนื่องและสั่นไหว) ทว่าจนแล้วจนรอด มันกลับหยะหย่อนในการบันทึก ‘ช่วงเวลามหัศจรรย์’ จนทำให้ภาพที่ ‘จิตวิญญาณของ Irma Vep เข้าครอบงำจางม่านอวี้’ ถูกอ่านเป็น ‘จางม่านอวี้กลายไปเป็น Irma Vep’ เสียแทน

การสร้างเรื่องเล่าใหม่ในลักษณะสัจนิยมมหัศจรรย์ข้างต้นตอกย้ำให้เห็นถึงอิทธิพลของประวัติศาสตร์ ความทรงจำ ความเชื่อ ซึ่งล้วนมีผลต่อการประกอบสร้าง ‘ความจริง’ ขึ้นมาใหม่ ช่วงหนึ่งใน Irma Vep ฉบับภาพยนตร์ เรอเน วิดาล (ฌ็อง-ปิแอร์ เลโอด์) สารภาพหมดเปลือกกับจางม่านอวี้ว่าเขามองตัวละคร Irma Vep เป็นเพียง ‘หลอดเลือดกลวงเปล่า’ ขาดไร้ซึ่งเลือดเนื้อและจิตวิญญาณภายใน ‘มันไม่มีอะไรให้คุณแสดงด้วยซ้ำ’ เขากล่าวอย่างเดือดดาล ก่อนที่นักแสดงสาวจะเผยความไม่เห็นด้วยอย่างทันควัน นั่นคือข้อแตกต่างสำคัญระหว่างเรอเน วิดาล ในฉบับภาพยนตร์และฉบับซีรีส์ ในฉบับปี 1996 เรอเน วิดาล มอง Irma Vep เป็นเพียง ‘ตัวละครหนึ่ง’ ขณะที่ฉบับซีรีส์ ซึ่งมีความเป็นร่างทรงของอัสซายาสมากกว่า มอง Irma Vep เป็นประวัติศาสตร์ เป็นความทรงจำ ตัวละคร Irma Vep ในฉบับสร้างใหม่จึงมีความเป็นจิตวิญญาณ เป็นภาพเสนอของอดีตที่มีเรื่องราวฝังจำติดตัวมาและไม่อาจสลัดออกจนกว่าจะได้รับการสะสาง
เป็นที่รู้กันว่าโอลิวิเยร์ อัสซายาส คบหาจนกระทั่งตกลงปลงใจกับจางม่านอวี้ หลังจากที่ทั้งสองร่วมงานกันใน Irma Vep ฉบับภาพยนตร์ ก่อนจะเลิกรากันอย่างเป็นทางการระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Clean ในปี 2003 ซึ่งเป็นผลงานที่ส่งเธอไปรับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ (เธอเป็นนักแสดงหญิงชาวเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลนี้) จากนั้นจางม่านอวี้ก็ได้หันหลังให้กับวงการภาพยนตร์ไปอย่างถาวร ความสัมพันธ์ที่พังครืนลงอย่างไม่ทันระวังตั้งตัว การจบอาชีพนักแสดง ณ จุดสูงสุดอย่างปัจจุบันทันด่วน ได้ทิ้งช่องว่างขนาดใหญ่ให้แก่ทั้งอัสซายาสและโลกภาพยนตร์ ซึ่งในแง่หนึ่ง ได้ทำให้จางม่านอวี้มีลักษณะเป็น ‘ผี’ ไปโดยปริยาย ทว่าไม่ใช่ผีในขนบของภาพยนตร์สยองขวัญหรือตำนานความเชื่อพื้นบ้าน แต่เปรียบได้กับตะกอนความทรงจำ เป็นอดีตที่ยังคงตกค้าง เป็นประวัติศาสตร์ที่ทิ้งร่องรอยไว้ให้ระลึกถึง เป็นผีที่ตามหลอกหลอนทั้งอัสซายาสและโลกภาพยนตร์จวบจนปัจจุบัน

ช่วงหนึ่งของซีรีส์ เรอเน (แวงซ็องต์ มาเกญน์) และมีรา (อลิเซีย วิกันเดอร์) เปิดอกคุยกันถึงความอึดอัดคับข้องของการรีเมค Les Vampire ผลงานชั้นครูของหลุยส์ ฟิวยาด ผู้กำกับ และมูซิโดรา นักแสดงผู้รับบท Irma Vep เรอเนสารภาพอย่างซื่อตรงว่าเขาได้สูญเสีย ‘มนต์ขลัง’ ของตัวเองไปจนหมดสิ้น เขาไม่เชื่อว่าตนเองคู่ควรที่จะแตะต้องผลงานชั้นครูนี้ และการ ‘ได้พูดุยกับผีเจด ลี’ (ร่างทรงของจางม่านอวี้) ก็ยิ่งทำให้เขาเกิดความคลางแคลงใจต่อตนเองขึ้นไปอีก พูดอีกอย่าง ‘ผี’ ใน Irma Vep ไม่ได้เป็นเพียง ‘ผีคนรักเก่า’ แต่ยังมีเนื้อหนังของความเป็น ‘ผีครู’ ที่หมายถึงบรรดาคนทำหนังที่เป็นตำนานผู้บุกเบิก เป็นผู้อุทิศตนให้แก่ศาสตร์ภาพยนตร์ในห้วงวันเวลาที่ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าภาพยนตร์คืออะไร ในอีกด้านหนึ่ง Irma Vep จึงทำงานในฐานะเครื่องสักการะครูหนัง นั่นคือเหตุผลที่ตัวซีรีส์ไม่เพียงเชื้อเชิญให้เราคนดูเข้าไปสังเกตการณ์การทำงานของคนเบื้องหลังในกองถ่าย Irma Vep แต่รวมถึงกองถ่าย Les Vampire ของหลุยส์ ฟิวยาด ด้วย (ทั้งหมดรับบทโดยนักแสดงชุดเดียวกับ Irma Vep) โดยเฉพาะในตอนที่หนังฉายให้เห็นภาพความลำบากตลอดจนความทุ่มอุทิศตนของบรรดานักแสดงและคนเบื้องหลัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากว่าจะออกมาเป็น ‘ภาพยนตร์’ สักเรื่องหนึ่งนั้นพวกเขาต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจมากเพียงใด
เรอเน วิดาล ในฉบับซีรีส์ถูกถามซ้ำๆ หลายครั้งว่าเหตุใด เขาจึงตัดสินใจ ‘รีเมค’ Irma Vep ฉบับภาพยนตร์ คำตอบของเขาเรียบง่าย ‘มันไม่ใช่การรีเมค มันคือการขยับขยายเรื่องราว’ ในอีกความหมายหนึ่ง ซีรีส์ Irma Vep จึงเป็นทั้งส่วนขยายและเติมเต็มของเหตุการณ์ในฉบับภาพยนตร์ และหนึ่งในองค์ประกอบที่ถูกเพิ่มเสริมเข้ามาก็คือความเชื่อเรื่องผี (ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียง ผีจางม่านอวี้ แต่รวมถึง ผีมูซิโดรา ด้วย) องค์ประกอบอันมหัศจรรย์ที่ถูกเสริมเติมเข้าไปยังเรื่องเล่าของ Irma Vep นี้ไม่ได้ทำงานเป็นเพียงภาพสะท้อนความป่วยไข้หรือจินตนาการเลื่อนลอยของเรอเน วิดาล แต่มันนำพาเราไปสู่ข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่งที่ไม่สามารถไขแถลงด้วยหลักวิทยาศาสตร์หรือหลักเหตุผล ‘ภาพยนตร์คือประตูสู่โลกแห่งจิตวิญญาณที่เราไม่อาจเข้าถึงได้อีกต่อไปแล้ว’ มีรากล่าวอย่างหนักแน่นกับซินเธีย (ฟาลา เฉิน) ในตอนหนึ่ง และโดยปริยาย มันได้ฉายส่องให้เราได้เห็นว่าเหตุใด เรอเน วิดาล ในฉบับภาพยนตร์จึงล้มเหลวในการรีเมค Les Vampire นั่นเพราะ ในความเห็นของอัสซายาส ‘ภาพยนตร์’ ไม่ได้เพียงวางตั้งอยู่บนโลกของความเป็นเหตุเป็นผล ภาพยนตร์คือมนต์ดำ วิทยาศาสตร์และทุนย่อมล้มเหลวในการเข้าถึงแก่นแท้ของภาพยนตร์ เพราะนี่คือดินแดนที่เต็มไปด้วยวิญญาณไร้ร่าง และมันเลือกสิงสถิตแต่เพียงคนที่เปิดรับมันอย่างไร้ข้อแม้เท่านั้น
Irma Vep (2022)
- Created by Olivier Assayas
- Based on Irma Vep by Olivier Assayas
- Written by Olivier Assayas
- Directed by Olivier Assayas
- Starring: Alicia Vikander, Vincent Macaigne, Jeanne Balibar, Devon Ross, Lars Eidinger, Vincent Lacoste, Nora Hamzawi, Adria Arjona, Tom Sturridge, Fala Chen
คุณสามารถรับชม Irma Vep ฉบับซีรีส์ได้ทาง HBO GO และฉบับภาพยนตร์ได้ทาง Mubi
อ่านบทวิเคราะห์ Irma Vep ฉบับภาพยนตร์ จาก Audience’s Eye View ได้ทาง audienceseyeview.com