สมรสเท่าเทียมผ่านฉลุยวาระแรก สภารับหลักการ พร้อมเดินหน้าต่อในวาระถัดไป

| | ,

หลังจากต่อสู้กันมานานกว่า 22 ปี ในที่สุดตอนนี้ (21 ธันวาคม 2023) สิทธิแห่งการสมรสของคู่รักไม่ว่าจะเป็นเพศใด ก็ใกล้จะถึงความฝันที่ตั้งเอาไว้ในไม่ช้า หลังจากที่ได้มีการนำเข้าสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่มีการแก้ไขในใจความหลักอย่างในบรรพห้า ที่เกี่ยวข้องกับการสมรส ที่รับรองแค่เพียงชายและหญิงเท่านั้น แต่สำหรับการแก้ไขในครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำการรับรองการสมรสของบุคคลไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ให้ได้สิทธิตามกฎหมาย

สมรสเท่าเทียมเข้าสภา 4 ฉบับ

สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย (14 พฤษภาคม 2023) ได้มีการพิจารณาร่างสมรสเท่าเทียมถึง 4 ร่างพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • ร่างของประชาชน ที่มีการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 10,000 รายชื่อ (11,611 รายชื่อ) เพื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา
  • ร่างจากพรรคก้าวไกล 
  • ร่างจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านการผลักดันของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
  • ร่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ได้มีการบรรจุในวาระการประชุม เนื่องจากเพิ่งถูกเสนอเข้ามาในวันประชุมสภา และมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน จึงนำมาใช้ร่วมในการพิจารณารอบเดียวกัน
พรรคเพื่อไทยสนับสนุนสิทธิ LGBTQ+
สมรสเท่าเทียมเพื่อสังคมที่โอบรับความหลากหลาย

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 369 : 10

จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางสภาฯ ได้ให้ทางผู้เสนอร่างกฎหมาย ทำการชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายที่จะเสนอ โดยร่างกฎหมายของ ครม. ได้ทาง สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจง ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ได้ทาง ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เป็นผู้ชี้แจง ร่างกฎหมายของภาคประชาชน ได้ทาง อรรณว์ ชุมาพร, ณชเล บุญญาภิสมภาร และนัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นผู้ชี้แจง และร่างกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทาง สรรเพชญ บุญญามณี เป็นผู้ชี้แจง

เมื่อชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ขึ้นมาอภิปรายร่างกฎหมายนี้กว่า 50 ราย และเมื่ออภิปรายจบ ได้มีการให้ทางผู้เสนอร่างกฎหมายแถลงปิด ก่อนจะทำการลงมติเพื่อรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับในวาระแรก ด้วยคะแนนเสียงรับหลักการ 369 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง และไม่รับหลักการ 10 เสียง จากจำนวน ส.ส. ที่เข้าประชุมทั้งหมด 380 คน นอกจากนี้แล้ว ยังมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 39 คน เพื่อพิจารณาในวาระสอง โดยใช้ร่างกฎหมายของ ครม. เสนอ เป็นร่างหลักที่ใช้ในการพิจารณาของชั้นกรรมาธิการ

สู้ต่อในวาระถัดไป

หลังจากที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านในวาระแรกแล้ว ยังต้องทำการส่งต่อไปยังกรรมาธิการวิสามัญ ในวาระที่สอง เพื่อทำการพิจารณาร่างกฎหมายรายมาตรา อาจจะมีการเพิ่ม ตัดทอน แก้ไขในบางมาตราหรือบางถ้อยคำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยไม่ขัดแย้งกับหลักการของร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ นั่นเอง สำหรับร่างกฎหมายในครั้งนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เป็นการเชิญบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการได้ หลังจากทำการพิจารณาเสร็จ จำเป็นจะต้องนำร่างกฎหมายเข้าที่ประชุมสภา และ ส.ส. ทั้งสภาจะมาทำการอภิปรายร่างกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่ทางสภาผู้แทนราษฎรจะทำการลงมติเห็นชอบโดยใช้เสียงข้างมาก เรียงตามมาตราจนครบก่อนลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ

แต่หลังจากที่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะไปสู่ขั้นตอนถัดไป คือไปยังวุฒิสภา ในส่วนนี้ ทางสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะไม่มีอำนาจปัดตกหรือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่าน ส.ส. มาแล้วหายไปได้ เมื่อผ่าน ส.ว. ลงมติเห็นชอบ จะทำการส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้ตัดข้อความนั้นออกไป แต่ถ้าข้อความเป็นสาระสำคัญ ให้ร่างกฎหมายนั้นตกไป

หลังจากผ่านด่านทั้งในส่วนของ ส.ส., ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ แล้วนั้น จะทำการทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

progress pride flag 2021 - LGBTQIAN Flag
Photo by Chris Robert on Unsplash

อนาคตของเพศหลากหลาย สมรสเท่าเทียม และก้าวแรกของความเสมอภาค

จากการต่อสู้มาอย่างยาวนานของเพศหลากหลาย นักสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงภาคประชาชน ที่ร่วมส่งเสียงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในด้านกฎหมาย สิทธิ หน้าที่ และเพื่อให้พวกเขาได้รับเสรีภาพอย่างแท้จริง สมรสเท่าเทียมถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญ ที่รับรองให้ทุกคนได้รับสิทธิตามที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญได้ตราไว้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงในประเทศไทย

นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้น ก้าวใหญ่ที่สำคัญในการต่อสู้ของชุมชน LGBTQIAN+ ในประเทศไทย เมื่อการสมรสระหว่างบุคคลผ่านและตราเป็นกฎหมายแล้ว ความก้าวหน้าของประเทศไทยจะไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงเท่านั้น เนื่องจากในปัจจุบัน มีร่างกฎหมายเพื่อเพศหลากหลายที่กำลังต่อสู้เพื่อให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับประชาชนในประเทศไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายรับรองคำนำหน้าชื่อ การรับรองเพศสถานะ การเลือกปฏิบัติ กฎหมายคุ้มครอง sex worker และกฎหมายอื่นๆ ที่ให้ความคุ้มครองแก่เพศหลากหลาย เป็นต้น

หวังว่า นี่จะช่วยจุดประกายให้กับการต่อสู้ในทุกๆ รูปแบบ เพื่อโอบกอดทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเพศหลากหลายที่ถูกกดทับและตีตรามาอย่างยาวนาน ให้พวกเขาได้รับสิทธิและหน้าที่ ตามที่กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้ เฉกเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยทุกคน

Sources:

  • https://ilaw.or.th/node/5343
  • https://www.youtube.com/watch?v=SHUvvhgry1s
Previous

Breakout pop artist Mika Hashizume reveals captivating debut solo EP ‘bleached’

ประกาศผล #SUFanFav2023 รวบรวมแซฟฟิคที่คุณโปรดปราน จาก Sapphic Union

Next